สุภาษิตไทย

30 คำสุภาษิต ที่ใช้บ่อย ในชีวิตประจำวัน

สุภาษิตไทย รวม 30 คำสุภาษิต ที่ใช้บ่อย มาทำการเรียนรู้กัน จะมีคำไหนที่เรารู้จักไหมนะ ไปดูกันเลย

คำสุภาษิต คือ คำในภาษาไทยที่เป็นการสร้างคำให้มีความหมายเชิงเปรียบเทียบอุปมาอุปมัย และเป็นเชิงสั่งสอนหรือให้ข้อคิด หรือตักเตือนไปในทางบวก โดยเน้นการให้ความหมายในแง่ดีเป็นหลัก


รวม 30 คำสุภาษิต ที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน

  1. ขี่ช้างจับตั๊กแตน
    หมายถึง ทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ได้ผลไม่คุ้มกับที่ต้องเสียไป
  2. คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย สามคนกลับมาได้
    หมายถึง ทำงานเป็นทีมจะให้สถานการณ์ที่ดีกว่า
  3. คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล
    หมายถึง คบใครก็จะเป็นคนอย่างนั้น
  4. ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด
    หมายถึง แม้จะมีความรู้สูงแค่ไหนก็ตาม ถ้าความประพฤติไม่ดีแล้วก็เอาตัวไม่รอด เพราะไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย หรือมีความรู้ แต่ไม่ใช้ความรู้ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร
  5. คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก
    หมายถึง ที่อยู่อาศัย แม้จะคับแคบเพียงใด ถ้ารู้จักทำให้ดี ก็น่าอยู่ แต่ถ้าหากมีความคับอกคับใจแล้ว แม้ที่จะกว้างขวางใหญ่โต ก็มิได้ทำให้สบายอกสบายใจเลย มีแต่จะรู้สึกอึดอัดใจแต่ถ่ายเดียว
  6. จับปลาสองมือ
    หมายถึง การที่คน ๆ หนึ่งทำสิ่งใดที่ยากพร้อม ๆ กัน ทำให้ล้มเหลวทั้งสองสิ่งนั้น สำนวนนี้นิยมใช้กับผู้ชายที่เกี้ยวผู้หญิงสองคนในเวลาเดียวกัน ซึ่งผลสุดท้ายแล้วผู้ชายคนนั้นจะมีปัญหาตามมา
  7. ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด
    หมายถึง ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ใบบัวมีขนาดเล็ก ถ้าเอาใบบัวใบเดียวไปปิดช้าง ย่อมปิดไม่มิด คนที่ทำความชั่วไว้มากมาย ถึงจะปิดอย่างไรๆ ก็ปิดไม่หมด คนย่อมรู้เข้าจนได้
  8. ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ถ้าจะดูให้แน่ต้องดูถึงย่าถึงยาย
    หมายถึง วัวที่มีลักษณะดีนั้นให้ดูที่หาง ถ้าปลายหางเป็นพู่เหมือนใบโพธิ์ ก็นับว่าเป็นวัวที่มีลักษณะดีมาก การที่จะเลือกผู้หญิงมาเป็นคู่ครอง ไม่ใช่ดูเพียงตัวผู้หญิงเท่านั้น ต้องดูไปจนถึงแม่ด้วยว่าเป็นคนดีหรือไม่ เพราะลูกกับแม่ก็มักจะมีลักษณะนิสัยคล้ายคลึงกัน และถ้าจะดูให้แน่จริงๆ ต้องสืบประวัติไปจนถึงย่ายายของหญิงนั้นด้วย
  9. ตามใจปากมากหนี้
    หมายถึง เห็นแก่กินย่อมสิ้นเปลืองมาก
  10. น้ำลด ตอผุด
    หมายถึง ความชั่วเมื่อทำไว้ในเวลาที่ตนมีอำนาจนั้น อาจไม่มีใครทราบ แต่เมื่อหมดบุญ หมดอำนาจ บรรดาความชั่วที่ปิดบังกันไว้นั้น ก็จะปรากฏออกมา
  11. น้ำเชี่ยว อย่าขวางเรือ
    หมายถึง เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงอะไรเกิดขึ้น ก็อย่าไปขัดขวาง จะได้รับอันตราย เพราะตอนนี้ตนอยู่ในระยะหน้าสิ่งหน้าขวาน คนเรามักไม่มีเหตุผลดุจนน้ำเชี่ยว ถ้าเอาเรือไปขวาง เรือก็จะล่ม
  12. ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา
    หมายถึง สมัยก่อนการศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านยังไม่แพร่หลาย คนที่รู้หนังสือมีน้อย บางคนก็ได้ดีเพราะปาก การคิดเลขหรือการคำนวณนั้นมีความสำคัญน้อยลงมาอีก แม้เดี๋ยวนี้คนที่มีความรู้ดีแต่พูดไม่เก่ง ก็เอาดีได้ยาก ส่วนความชั่วความดีนี้ ทำลงไปแล้วย่อมเป็นเสมือนตราที่ประทับลงไปให้รู้ว่าคนนั้นเป็นคนดี หรือคนชั่ว
  13. พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง
    หมายถึง คำพูดบางครั้งหากพูดออกไปอาจจะก่อให้เกิดผลเสียต่อตนเองหรือคนรอบข้าง หากอยู่เฉย ๆ ไม่พูดอะไรออกไปยังจะก่อเกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่า
  14. มีเงินเขานับว่าเป็นน้อง มีทองเขานับว่าเป็นพี่
    หมายถึง เมื่อมั่งมีเงินมีทองแล้ว ใคร ๆ ก็ประจบอยากเข้ามาเป็นญาติพี่น้องด้วย
  15. รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ
    หมายถึง รักจะคบกันนาน ๆ ให้ตัดความคิดอาฆาตพยาบาทออกไป รักจะอยู่สั้น ๆ ให้คิดอาฆาต
  16. รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี
    หมายถึง วัวถ้าไม่ผูกไว้ ก็อาจหายได้ ถ้าลูกดื้อ พ่อแม่ก็ต้องดุต้องตีบ้าง แต่การที่พ่อแม่ตีไม่ใช่ตีด้วยความเกลียดชัง เพราะพ่อแม่ที่ตีนั้นก็ไม่อยากตี บางทีตีแล้วแอบไปร้องไห้ สงสารลูกก็มี แต่ถ้าไม่ตีเสียบ้าง ต่อไปถ้าลูกกลายเป็นคนชั่วช้าเลวทราม พ่อแม่จะต้องเสียน้ำตามากกว่านั้น
  17. รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม
    หมายถึง การศึกษาหาความรู้ไว้ ยิ่งมากยิ่งดี เพราะการมีความรู้มาก ไม่เหมือนการแบกข้าวแบกของ ซึ่งจะรู้สึกว่าหนักบ่า มีความรู้มิได้หนักบ่าหนักแรงอะไร ความรู้ที่เวลานี้เราคิดว่าไม่มีประโยชน์ วันหน้าอาจเห็นคุณค่าของมันก็ได้
  18. สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
    หมายถึง คนเราแม้จะมีความรู้สูงอย่างนักปราชญ์ ก็อาจผิดพลาดได้เหมือนกัน ทุกคนจึงไม่ควรประมาท แม้สัตว์สี่เท้าเช่น วัวควายซึ่งมีสี่เท้าก็ยังอาจก้าวพลาดถึงล้มลงได้ ภาษิตนี้บางทีก็มีพูดต่อไปอีกว่า “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง สองตีนโด่เด่ คงจะเซลงบ้าง”
  19. อย่าชี้โพรงให้กระรอก
    หมายถึง คืออย่าไปสอนผู้รู้ เพราะเขารู้อยู่แล้ว เหมือนกับกระรอกมันย่อมรู้จักโพรงของมัน ไม่ต้องไปชี้บอกกับมันดอก
  20. อย่าเห็นขี้ดีกว่าไส้
    หมายถึง อย่าเห็นผู้อื่นดีกว่าญาติพี่น้องลูกหลานของตน
  21. อย่าเอาทองไปลู่กระเบื้อง
    หมายถึง คืออย่าลดตัวลงไปสู้กับคนชั่วต่ำ มีแต่เสียศักดิ์ศรี เพราะไม่คู่ควรกัน
  22. อย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ
    หมายถึง พิมเสนเป็นของมีค่างมากกว่าเกลือ คืออย่าลดตัวลงไปสู้กับคนชั่วต่ำ มีแต่เสียศักดิ์ศรี เพราะไม่คู่ควรกัน
  23. อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง
    หมายถึง อย่าวางใจหรือไว้วางใจใครคนอื่นง่ายเกินไป จะเป็นเราที่เดือดร้อนในภายหลังได้
  24. เข้าตามตรอก ออกตามประตู
    หมายถึง ทำอะไรให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณี
  25. เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า ได้หน้าอย่าลืมหลัง
    หมายถึง อย่าประมาทต้องเตรียมให้พร้อม และให้มีสติกำหนดจดจำให้ดี
  26. เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ
    หมายถึง ทั้งๆ ที่ตนไม่มีส่วนได้เป็นผลประโยชน์กับเขาเลย แต่ก็พลอยเข้าไปพัวพันในเรื่องร้าย ทำให้ต้องพลอยรับบาปรับเคราะห์เสียหายไปกับเขาด้วย
  27. โลภมาก ลาภหาย
    หมายถึง โลภมากเกินไป ในที่สุดจะไม่ได้อะไรเลย ท่าสอนให้รู้จักมีความพอประมาณไว้บ้าง
  28. ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว
    หมายถึง ทำทุกข์ให้แก่ผู้ใด เคราะห์กรรมที่ทำกับเขา อาจตกตามมาถึงตัวเองบ้าง อย่างบางคนชอบล่าสัตว์ บางทีไปยิงลูกของตน โดยเข้าใจว่าเป็นสัตว์ป่าก็มี
  29. ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง
    หมายถึง ความสวยงามเกิดขึ้นได้จากการปรุงแต่ง
  30. ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก
    หมายถึง จะอบรมสั่งสอนอะไรก็ทำเสียตั้งแต่เด็ก เพราะอบรมสั่งสอนง่าย จะสอนให้เป็นอะไรก็ได้ ส่วนคนแก่นั้นสอนยาก เหมือนไม้แก่ถ้าดัดก็หัก ผิดกับไม้อ่อนซึ่งดัดง่ายไม่หัก

คิดว่าน่าจะเต็มอิ่มกับคำสุภาษิตทั้ง 30 คำกันไปแล้วเนอะ หวังว่าน่าจะพอมีประโยชน์ให้นำไปใช้ต่อในชีวิตประจำวันกัน

หากยังไม่เจอคำไหน หรือคิดว่ามีตกหล่นไป สามารถแจ้งแนะนำกันเข้ามาได้เลย


รวมคำสุภาษิต ที่นิยมใช้ ใช้งานบ่อย ในชีวิตประจำวัน